ประวัติ ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ

เบื้องต้น

ชื่อเมื่อแรกเกิดของเวอร์จิเนีย วูล์ฟคืออเดลีน เวอร์จิเนียร์ สตีเฟน วูล์ฟ ผู้เกิดในลอนดอนเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1882 เป็นบุตรีของสตรีผู้มีความงามอันเลื่องชื่อ จูเลีย พรินเซ็พ สตีเฟน (ค.ศ. 1846–ค.ศ. 1895) จูเลียเกิดในบริติชอินเดีย เป็นบุตรีของด็อคเตอร์จอห์นและมาเรีย แพทเทิล แจ็คสัน ต่อมาย้ายกลับมาอังกฤษกับแม่มาเป็นนางแบบให้แก่ศิลปินในกลุ่มพรีราฟาเอลไลท์ เช่น เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์[1] บิดาของวูล์ฟ เซอร์เลสลี สตีเฟน เป็นนักประพันธ์มีชื่อ, นักวิพากษ์วรรณกรรม และนักปีนเขา[2] วูล์ฟได้รับการศึกษาได้รับการศึกษาโดยบิดามารดาผู้เป็นผู้มีความรู้ดี และเป็นผู้มีเส้นสายการติดต่อในสังคมดี ทั้งบิดาและมารดาสมรสและเป็นพ่อหม้ายแม่หม้ายมาก่อนที่จะมาสมรสกัน ฉะนั้นครอบครัวของวูล์ฟจึงมีพี่น้องจากสามครอบครัว จูเลียมีบุตรธิดาสามคนกับเฮอร์เบิร์ต ดัควูด สามีคนแรก: จอร์จ, สเตลลา และ เจอราลด์ ดัควูด ส่วนบิดาสมรสกับมินนี แธคเคอเรย์ และมีบุตรีด้วยกันคนหนึ่ง: ลอรา เมคพีส สตีเฟนผู้มีความพิการทางสติปัญญา (Developmental disability) และอยู่กับครอบครัวจนเมื่อถูกส่งตัวไปยังสถาบันสำหรับผู้พิการในปี ค.ศ. 1891[3] เลสลีและจูเลียมีบุตรธิดาด้วยกันสี่คน: วาเนสสา สตีเฟน (ค.ศ. 1879), โทบี สตีเฟน (ค.ศ. 1880), เวอร์จิเนีย (ค.ศ. 1882) และ เอเดรียน สตีเฟน (ค.ศ. 1883)

จูเลีย พรินเซ็พ สตีเฟน วาดโดย เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์, ค.ศ. 1866เวอร์จิเนียและบิดา เซอร์เลสลี

เซอร์เลสลีเป็นบรรณาธิการ, นักวิพากษ์วรรณกรรม และนักเขียนชีวประวัติผู้มีชื่อ และการมีความเกี่ยวข้องกับวิลเลียม แธคเคอเรย์ (บิดาของภรรยาคนแรก) ทำให้ครอบครัวเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมของสังคมวรรณกรรมที่มีอิทธิพลของสมัยวิคตอเรีย นักเขียน เฮนรี เจมส์, จอร์จ เฮนรี หลุยส์, จูเลีย มากาเร็ต คาเมรอน และ เจมส์ รัสเซลล์ โลเวลล์ ผู้เป็นพ่อทูลหัวของเวอร์จิเนีย เป็นนักเขียนบางคนที่มาเป็นแขกของครอบครัว จูเลียเองก็มีเส้นสายการติดต่อในสังคมดี และเป็นผู้มีความงดงามพอที่จะเป็นแบบให้จิตรกรพรีราฟาเอลไลท์และช่างถ่ายภาพสมัยแรก นอกจากสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว เวอร์จิเนียและวาเนสสาก็ยังล้อมรอบไปด้วยห้องสมุดขนาดใหญ่ในบ้านของตนเองและได้รับการศึกษาด้านคลาสสิกและวรรณคดีอังกฤษที่บ้าน ซึ่งต่างจากพี่และน้องชายผู้ได้รับการศึกษาในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการ

จากบันทึกความทรงจำของวูล์ฟ ความจำแรกที่ฝังใจเมื่อยังเด็กไม่ใช่ความทรงจำของลอนดอน แต่เป็นหมู่บ้านชายทะเล เซนต์ไอฟ์สในคอร์นวอลล์ที่ครอบครัวไปใช้เวลาระหว่างฤดูร้อนทุกปีที่นั่นมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1895 เรือนฤดูร้อนของครอบครัวสตีเฟน “บ้านทาลลาร์ด” ตั้งอยู่เหนืออ่าวพอธมินสเตอร์และยังคงตั้งอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ความทรงจำของช่วงเวลาการพักร้อนของครอบครัว และภูมิทัศน์ของคอร์นวอลล์ โดยเฉพาะประภาคารโกโดรฟวีมามีอิทธิพลต่องานเขียนของวูล์ฟต่อมา โดยเฉพาะในนวนิยายเรื่อง “To the Lighthouse” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1927)

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของมารดาในปี ค.ศ. 1895 เมื่อวูล์ฟมีอายุเพียง 13 ปีและของสเตลลาน้องสาวต่างมารดาสองปีต่อมา ทำความกระทบกระเทือนทางจิตใจให้แก่วูล์ฟจนทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (nervous breakdown) เป็นครั้งแรก เมื่อบิดาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1904 ก็ยิ่งส่งความกระทบกระเทือนซ้ำซ้อนจนทำให้วูล์ฟต้องถูกส่งตัวไปรักษายังสถานบำบัดผู้เป็นโรคจิตอย่างเป็นทางการ[3]

นักวิชาการสมัยใหม่วินิจฉัย[4] ว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความป่วยทางอารมณ์และจิตใจ และมีอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นช่วง อาจจะมาจากการถูกทำร้ายทางเพศ (Sexual abuse) ที่ทั้งวูล์ฟและพี่สาวได้รับจากพี่ชายต่างมารดา จอร์จและเจอราลด์ (ที่วูล์ฟกล่าวถึงในบทเขียนอัตชีวประวัติ “A Sketch of the Past” และ “22 Hyde Park Gate”)

วูล์ฟได้รับความทรมานจากอาการป่วยทางอารมณ์ของอารมณ์ผันผวน (mood swing) และอาการอื่นที่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต แม้ว่าจะขาดความมั่นคงทางอารมณ์ที่มักจะมีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น แต่งานเขียนของวูล์ฟก็แทบจะมิได้หยุดยั้งลงจนกระทั่งเมื่อมาเสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1941

แหล่งที่มา

WikiPedia: เวอร์จิเนีย วูล์ฟ http://www.moralquotes.com/index.php/a?blog=2&page... http://www.mrs-dalloway.com http://www.portalmundos.com/mundoliteratura/escrit... http://www.the-ledge.com/flash/ledge.php?book=147&... http://libproxy.smith.edu/libraries/libs/rarebook/... http://xoomer.alice.it/letteraturadamore/Orlando.h... http://www.bodysoulandspirit.net/mystical_experien... http://www.roepstem.net/woolf.html http://www.gutenberg.org/author/Virginia+Woolf http://news.bbc.co.uk/2/hi/7684201.stm